การดูแลสุขภาพผู้ชายเพื่อลดความเสี่ยง มะเร็งต่อมลูกหมาก

วันที่ 11-07-2025 | อ่าน : 5


มะเร็งต่อมลูกหมากคืออะไร
ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่มีเฉพาะเพศชาย อยู่บริเวณท่อปัสสาวะ ทำหน้าที่ผลิตน้ำหล่อเลี้ยงอสุจิ มะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากการที่เซลล์ในอวัยวะต่อมลูกหมากเจริญเติบโตผิดปกติ กลายเป็นก้อนเนื้อหรือเนื้องอกมะเร็ง มะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกมักไม่แสดงอาการใด ๆ แต่เมื่อมะเร็งขยายตัวมากขึ้นจนไปกดทับท่อปัสสาวะ จะทำให้เกิดอาการแปรปรวนของระบบทางเดินกระเพาะปัสสาวะส่วนล่าง เช่น ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะช่วงกลางคืน มีอาการแสบขัดขณะปัสสาวะ ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะไม่พุ่งหรือต้องใช้เวลาในการเบ่ง หากปล่อยทิ้งไว้ผู้ป่วยจะปัสสาวะลำบากและบ่อยขึ้น จนถึงขั้นปัสสาวะเป็นเลือดได้  เมื่อมะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายในระยะร้ายแรงมะเร็งต่อมลูกหมากสามารถแพร่กระจายผ่านกระแสเลือด หรือต่อมน้ำเหลือง ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ โดยเฉพาะลุกลามไปที่กระดูก

ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก
อายุ พบมากในชายอายุ 50 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากก็ยิ่งสูงขึ้น
พันธุกรรม หากมีพ่อหรือพี่น้องเป็นมะเร็งชนิดนี้ จะมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น
พฤติกรรม การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ให้พลังงานสูง และอาหารจำพวกเนื้อแดงอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้

อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก
ในระยะต้นมักไม่มีอาการ ในบางรวยอาจมีอาการแสดง เช่น

  • ปัสสาวะมีเลือดปน
  • ปัสสาวะติดขัด หรือ ปัสสาวะไม่สุด
  • ปัสสาวะบ่อย
  • มีอาการเจ็บเวลาปัสสาวะ
  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดตื้อ ๆ ปวดเสียด บริเวณอุ้งเชิงกรานตอนล่าง
  • ปวดบริเวณหลังส่วนล่าง สะโพก หรือต้นขาส่วนบน เนื่องจากเซลล์มะเร็งอาจจะลุกลามไปที่กระดูก

ป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้อย่างไร
1. ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร

  • ลดการบริโภคไขมันสัตว์ ไขมันอิ่มตัวจากเนื้อแดงและอาหารแปรรูปอาจกระตุ้นการเติบโตของเซลล์มะเร็ง
  • กินผักผลไม้มากขึ้น โดยเฉพาะมะเขือเทศที่มีไลโคปีน (Lycopene), ผักตระกูลกะหล่ำ (เช่น บร็อกโคลี, กะหล่ำปลี), เบอร์รี และธัญพืชเต็มเมล็ด
  • เสริมโอเมก้า 3 จากปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาทู ช่วยต้านการอักเสบในร่างกาย

2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

  • แนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ เช่น เดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน
  • การออกกำลังกายช่วยควบคุมน้ำหนัก ลดระดับฮอร์โมนที่อาจกระตุ้นมะเร็ง และเสริมระบบภูมิคุ้มกัน

3. รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ภาวะอ้วนสัมพันธ์กับความเสี่ยงของโรคมะเร็งหลายชนิดรวมถึงมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย ควรควบคุมน้ำหนักด้วยการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสมและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
4. งดสูบบุหรี่และจำกัดแอลกอฮอล์

  • การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งหลายชนิด รวมถึงมะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลาม
  • ควรลดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจมีผลต่อระดับฮอร์โมนและสุขภาพตับ

5. ลดความเครียดและนอนหลับให้เพียงพอ

  • ความเครียดเรื้อรังและการนอนไม่พอส่งผลต่อระบบฮอร์โมนและภูมิคุ้มกัน
  • ควรนอนหลับอย่างมีคุณภาพวันละ 7–9 ชั่วโมง และฝึกผ่อนคลาย เช่น การทำสมาธิ

ปรึกษามะเร็งฟรี

สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลตนเอง หรือ การให้กำลังใจแบบถูกวิธีแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผ่านช่องทางการติดต่อของเรา

Facebook Fanpage: ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
📞 เบอร์ติดต่อ: 087-678-6026

🌐 เว็บไซต์: https://www.siamca.com/

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ความรู้มะเร็ง
การดูแลผู้ป่วย
การรักษามะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้