การลดเสี่ยงมะเร็งนรีเวช ที่ผู้หญิงทุกคนควรรู้

วันที่ 11-03-2022 | อ่าน : 421


นอกจากเรื่องความสวยความงามแล้ว เรื่อง “สุขภาพ” ก็เป็นสิ่งที่ “ผู้หญิง” ทุกคนละเลยไม่ได้เช่นกัน

โรคมะเร็งกับผู้หญิง
     “โรคมะเร็ง” เป็นโรคที่ส่งผลกระทบกับทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย รวมถึงครอบครัว เนื่องจากมีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีทั้งค่าใช้จ่ายและความกังวล การรักษาอาจต้องทำทั้งการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด หรือการฉายแสง

     แต่ความน่ากลัวนี้ เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการตรวจคัดกรองและป้องกัน เพราะหากได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โอกาสหายขาดก็มีอยู่สูง

“มะเร็งนรีเวช”
     “มะเร็งนรีเวช” หลายคนอาจยังไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่นัก คำนี้หมายถึงโรคมะเร็งที่เกิดกับผู้หญิงโดยเฉพาะ หรือเกิดในอุ้งเชิงกรานของอวัยวะสตรี ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด เป็นต้น

รู้จัก “โรค” รู้จัก “ตัวเอง”
     สิ่งที่จะช่วยลดการสูญเสียจาก “โรคมะเร็งนรีเวช” ได้ดีที่สุด  นั่นคือ การหมั่นสังเกตร่างกายของตัวเองว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือยัง เพราะหากพบความผิดปกติใดๆ ก็ตาม ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจ วินิจฉัย และรักษาอย่างทันท่วงที... “โรคมะเร็ง” อาจไม่รุนแรงและเลวร้ายเสมอไป...หากเรารู้จัก “โรค” และรู้จัก “ตัวเอง” อย่างดีพอ

1. มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด
เป็นเลือดที่ไม่ใช่ประจำเดือนปกติ อาจเกิดความผิดปกติจากปริมาณของเลือดที่มากขึ้น หรือจำนวนวันที่มากขึ้น รวมถึงการที่มีภาวะเลือดออกไม่ตรงรอบประจำเดือนปกติ การเกิดความผิดปกติจากการที่มีตกขาวที่ปนเลือด หรือมีภาวะเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวมีกลิ่นรุนแรงผิดปกติ อาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งนรีเวชหลายอย่าง เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกหรือมดลูก เป็นต้น

2. มีอาการคลำก้อนได้บริเวณช่องท้อง
มีอาการคลำก้อนได้บริเวณช่องท้องช่วงล่าง มีอาการท้องบวม อาจมีอาการปวดร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ หรืออาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้อาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นของมะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หรือมะเร็งกล้ามเนื้อมดลูก

3. มีลักษณะตกขาวผิดปกติเรื้อรัง
มักเกิดจากเซลล์ปากมดลูกผิดปกติ ทำให้มีอาการต่างๆ เช่น ตกขาวมีกลิ่นหรือสีผิดปกติ เป็นเรื้อรัง ได้รับการรักษาเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ลักษณะดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งปากช่องคลอด

พบความผิดปกติ...รีบพบแพทย์
     แม้ว่า “มะเร็งนรีเวช” จะเป็นโรคที่รุนแรง แต่เราสามารถลดทอนความรุนแรงลงได้ หากคุณพบว่าร่างกายตัวเองมีความผิดปกติ หรือมีบางอย่างเปลี่ยนไปจากเดิมจนเริ่มเกิดความสงสัย  โปรดอย่านิ่งนอนใจเด็ดขาด!!!  รีบมาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดพร้อมรับการรักษาอย่างถูกต้องและดีที่สุด เพราะยิ่งพบเร็ว..โอกาสในการรักษาให้หายขาดยิ่งมีมากขึ้น

     และนอกจากนี้การตรวจสุขภาพพร้อมกับการดูแลตัวเองอย่างดี ก็เป็นการป้องกันการเกิดโรคได้อีกด้วย การป้องกันการเกิดมะเร็งนรีเวชสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

1. การตรวจภายในทุกปี
อย่ากลัวหรืออย่ากังวลกับการตรวจภายใน หากร่างกายมีความผิดปกติจะทำให้เราทราบตั้งแต่ระยะแรกๆ และรีบทำการรักษาอย่างรวดเร็ว จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้หญิงทุกคนต้องหมั่นสังเกตร่างกายตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

2. การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
ผู้หญิงทุกคนควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามเวลาที่เหมาะสม เพราะร่างกายอาจไม่แสดงอาการบ่งชี้ มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็งด้วยวิธีการตรวจแบบแปปสเมียร์ (pap smear) ร่วมกับการตรวจการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV)

3. การฉีดวัคซีน
มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ซึ่งพบว่าเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดมะเร็งปากมดลูก

     “ผู้หญิง” ทุกคนควรรักร่างกายตัวเองให้มากๆ... หากร่างกายเริ่มส่งสัญญาณว่า...ไม่ไหว หรืออ่อนแอ...  คุณเองนั่นแหละที่ต้องรู้เป็นคนแรก  แล้วรีบพาร่างกายของคุณมาเยียวยาเติมพลัง  เพื่อใช้ชีวิตในวันต่อๆ ไปพร้อมกับรอยยิ้มที่สดใสของคุณ  


ขอบคุณข้อมูล พญ.ศรัญญา ชาญพานิชกิจโชติ แพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยานรีเวช, โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ความรู้มะเร็ง
การดูแลผู้ป่วย
การรักษามะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้