ผ่าตัดมะเร็งเต้านมไม่น่ากลัว มีหลายทางเลือก ตอบโจทย์ตามความต้องการ

วันที่ 12-10-2022 | อ่าน : 548


ผ่าตัดมะเร็งเต้านมไม่น่ากลัว มีหลายทางเลือก ตอบโจทย์ตามความต้องการ

     หลายคนอาจไม่ทราบว่า ปัจจุบันมะเร็งเต้านมคือมะเร็งอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทยเป็นจำนวนมากทุกปี ซึ่งการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมนั้นนับว่ามีความสำคัญและให้ประโยชน์มาก เพราะช่วยให้พบมะเร็งเต้านมได้ในระยะเริ่มต้น เป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้สูงด้วยการผ่าตัด

     อย่างไรก็ตาม ความกลัวการผ่าตัดมะเร็งเต้านมก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยลังเล อันนำไปสู่การลุกลามของโรคที่รุนแรงขึ้นตามระยะเวลา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การผ่าตัดมะเร็งเต้านมนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน ทำให้วันนี้ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีทางเลือกในการผ่าตัดหลายรูปแบบ ที่สามารถตอบโจทย์ตรงความต้องการของตนเองได้มากขึ้นด้วย

การผ่าตัดมะเร็งเต้านมมีกี่วิธี
แต่ละทางเลือกมีข้อดีอย่างไรบ้าง?

การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบัน สามารถแบ่งเป็น 3 ทางเลือกหลักๆ ดังนี้

     1.ผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด

     การผ่าตัดรูปแบบนี้ เป็นการผ่าตัดเลาะเนื้อเยื่อเต้านมออกทั้งหมด ผิวหนังบางส่วน ลานนมและหัวนมออกด้วย โดยผ่าตัดเป็นที่กว้างที่สุดเพื่อนำเนื้อเต้านมออกให้หมดแล้วเย็บปิดแผล หลังผ่าตัดผิวหนังจะมีลักษณะเรียบวางอยู่บนซี่โครงด้านหน้า ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดรูปแบบนี้จึงไม่มีเต้านมข้างนั้นเหลืออยู่เลย

     ข้อดี: การผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบตัดเต้านมออกทั้งหมด โอกาสกลับเป็นซ้ำที่บริเวณเต้านมเดิมจะน้อยที่สุด เพราะได้ผ่าตัดเนื้อเยื่อเต้านมออกไปแล้วทั้งหมด แต่ก็ต้องแลกกับข้อเสีย คือ ผู้ป่วยจะสูญเสียเต้านมไปข้างหนึ่ง ต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับหน้าอกข้างเดียว ซึ่งอาจทำให้สูญเสียความมั่นใจในความเป็นผู้หญิงได้

     2.ผ่าตัดแบบสงวนเต้านม

     การผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบสงวนเต้า คือ การผ่าตัดแบบเก็บทรงเต้านมไว้ โดยแพทย์จะผ่าตัดบริเวณที่เป็นก้อนมะเร็ง และผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อดีรอบๆ ออกบางส่วน หลังจากนั้นเพื่อคงรูปทรงของเต้านมเดิมไว้ แพทย์จะทำการโยกเนื้อเยื่อเต้านมทางด้านข้างมาปิดโพรง แล้วเย็บปิดแผลที่ผิวหนัง ทำให้สามารถเก็บทรงเต้านมทั้งหมดไว้ได้

     ข้อดี: ผู้ป่วยยังคงมีเต้านมที่มีลักษณะใกล้เคียงเดิมอยู่ ยังคงมีความรู้สึกจากการสัมผัสที่ใกล้เคียงเดิม แผลผ่าตัดจะเล็กกว่าการผ่าตัดแบบตัดเต้านมออกทั้งหมด ทำให้ฟื้นตัวได้เร็วกว่า ส่วนผลการรักษาและโอกาสหายขาดไม่แตกต่างกับวิธีผ่าตัดรักษามาตรฐานเดิมที่มีการตัดเต้านมออกทั้งหมด

     อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดแบบสงวนเต้าก็มีข้อจำกัดและเงื่อนไขในการรักษาเช่นกัน โดยหลังการผ่าตัดสงวนเต้าแล้ว ผู้ป่วยทุกรายจำเป็นต้องได้รับการฉายแสงบริเวณเต้านมข้างที่เหลือ และยังมีโอกาสที่โรคจะกลับมาเป็นซ้ำในเต้านมข้างที่ได้รับการผ่าตัดสงวนเต้าสูงกว่าการผ่าตัดแบบตัดเต้านมออกทั้งหมด รวมถึงหากผู้ป่วยตั้งครรภ์ หรือเคยผ่านการฉายแสงรักษาบริเวณหน้าอกมาก่อน หรือมีขนาดหน้าอกเล็กเกินไป มีก้อนมะเร็งที่ใหญ่เกินไป ก็จะไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดแบบสงวนเต้าได้

     3.การผ่าตัดแบบเสริมเต้านมในคราวเดียว

     ถือเป็นการผ่าตัดที่ทันสมัยที่สุด โดยจะผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด แล้วเสริมสร้างเต้านมใหม่ขึ้นมาทันทีหลังจากตัดเต้านมในคราวเดียวกัน โดยเทคนิคการผ่าตัดบริเวณเต้านมใหม่จะใช้วิธี Skin-sparing Mastectomy คือการตัดเนื้อเต้านมออกทั้งหมด โดยพยายามเก็บผิวหนังบริเวณเต้านมไว้ให้ได้มากที่สุด หรือวิธี Nipple-sparing Mastectomy ที่เป็นการผ่าตัดเนื้อเต้านมออกทั้งหมด โดยพยายามเก็บหัวนม ลานนม และผิวหนังบริเวณเต้านมไว้ เพื่อใช้ในการเสริมสร้างเต้านม

     โดยการเสริมสร้างเต้านมใหม่นั้นสามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่ การผ่าตัดโดยการย้ายกล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหลัง หรือกล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้องมาใส่แทน หรือเลือกใช้เต้านมเทียม หรือถุงซิลิโคนมาทดแทนเต้านมที่ตัดทิ้งไป

     ข้อดี: การผ่าตัดแบบเสริมเต้านมในคราวเดียวนั้น จะทำให้ผู้ป่วยมีเต้านมที่สวยงามเหมือนเดิมทั้ง 2 ข้าง อีกทั้งโอกาสในการกลับเป็นซ้ำก็น้อย เพราะตัดเนื้อเยื่อเต้านมออกไปทั้งหมด แต่ค่าใช้จ่ายในการรักษาจะสูงกว่าการผ่าตัดแบบอื่นๆ และอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้บ้าง เช่น การติดเชื้อจากแผลผ่าตัด การติดเชื้อบริเวณที่เอาเนื้อเยื่อหน้าท้องหรือหลังมาใช้ การเกิดพังผืดจากการใส่ซิลิโคนแทนเต้านมเดิมที่ตัดทิ้งไป และระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดจะนานขึ้น เป็นต้น

เทคนิคพิเศษเพิ่มความมั่นใจให้การผ่าตัดพร้อมเสริมเต้านมในคราวเดียว

     ปัจจุบันการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบเสริมเต้านมในคราวเดียวกันนั้น ถือเป็นทางเลือกการผ่าตัดที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากที่สุด เพราะทำให้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำน้อย และรักษาภาพลักษณ์ความสวยงามของผู้ป่วยเอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ทั้งนี้ การเสริมสร้างเต้านมใหม่แบบใช้ซิลิโคน จะวางถุงซิลิโคนเอาไว้บริเวณใต้กล้ามเนื้อหน้าอก จึงทำให้มีส่วนด้านล่างของซิลิโคนที่ยื่นออกมาได้ ซึ่งข้อเสียของการยื่นออกมาของซิลิโคนที่ว่านี้ คือเสี่ยงเกิดการเลื่อนหลุด รวมถึงผิวหนังบริเวณที่หุ้มซิลิโคนจะเป็นเนื้อเยื่อที่บาง จึงทำให้สัมผัสแล้วไม่เป็นธรรมชาติ

     การแก้ปัญหาสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดย้ายกล้ามเนื้อบริเวณหลังบางส่วนขึ้นมาห่อหุ้มเอาไว้ แต่ก็จะใช้ระยะเวลาการผ่าตัดยาวนานขึ้น มีอาการเจ็บแผลบริเวณด้านหลัง ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการใช้เทคนิคพิเศษเพื่อแก้ปัญหานี้ ด้วยการใช้วัสดุสังเคราะห์เพื่อพยุงเต้านมที่เป็นแผ่นเนื้อเยื่อเทียม (ADM) หรือถุงตาข่ายไททาเนี่ยมเข้ามาหุ้มแทน โดยแพทย์จะสร้างถุงที่เป็นช่องให้ใส่ซิลิโคนเข้าไปได้เพื่อไม่ให้ซิลิโคนเลื่อนหลุด และเพิ่มความหนาของชั้นผิวหนังหุ้มถุงซิลิโคนด้านล่างมากขึ้น ทำให้สัมผัสเป็นธรรมชาติเพิ่มขึ้น เต้านมมีความสวยงามขึ้น และลดอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัดได้ด้วย

ข้อดี : ใช้ทดแทนเนื้อเยื่อ เพิ่มความหนา ไม่ต้องเลาะผิวหนังหรือกล้ามเนื้อจากด้านหลัง ทำให้รูปร่างสวยงามขึ้น

ข้อเสีย : ราคาสูง อาจมีภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด และอาจมีโอกาสติดเชื้อเพิ่มขึ้น

     มะเร็งเต้านมแม้จะเป็นโรคร้าย แต่ถ้าตรวจพบเร็วก็มีทางเลือกในการรักษาให้หายขาดได้หลายวิธี โดยการผ่าตัดแบบเสริมสร้างเต้านมขึ้นใหม่ในคราวเดียวกันนั้น ถือเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาที่เข้าใจผู้หญิงเป็นอย่างดี เพราะภายหลังการผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจและมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อีกครั้ง ซึ่งหากใครก็ตามที่วันนี้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม หรือมีคนใกล้ชิดกำลังเผชิญกับโรคนี้อยู่อย่างทุกข์ใจ มีความกังวล หรือกลัวการผ่าตัดรักษา การเข้าไปขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง คือก้าวแรกของการเปิดโอกาสให้คลายความกังวลใจ มองเห็นความหวังใหม่ และค้นพบทางเลือกที่เป็นทางออกในการรักษาที่ตอบโจทย์กับตัวเองได้มากที่สุด

 

 

 

ขอขอบคุณข้อมูล นพ.วิทู กลิ่นอวล ศัลยแพทย์ด้านศีรษะคอและเต้านม ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลพญาไท 3

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้