มะเร็งเต้านม ยิ่งรักษาเร็ว ความมั่นใจจะกลับมาเร็ว

วันที่ 20-04-2023 | อ่าน : 423


“มะเร็งเต้านม” รักษาเร็ว ความมั่นใจจะกลับมา

     “มะเร็งเต้านม” นับเป็นมะเร็งในผู้หญิงที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก มีสาเหตุเกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนมที่ผิดปกติจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง และมีการขยายขึ้นเป็นก้อนขนาดใหญ่ เมื่อถึงระยะนี้ผู้ป่วยมักสามารถคลำพบได้เอง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มะเร็งก็จะกระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณใต้รักแร้ เข้าสู่หลอดเลือดหรือทางเดินน้ำเหลือง และลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด ตับ กระดูก จนทำให้เสียชีวิตในที่สุด

     สำหรับผู้ป่วย “มะเร็งเต้านม” ในระยะเริ่มแรกที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อัตราการอยู่รอดและสามารถใช้ชีวิตได้เกิน 5 ปี จะสูงถึงร้อยละ 70-90 นั่นทำให้อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยมะเร็งชนิดอื่นๆ เช่น มะเร็งตับหรือมะเร็งปอด ยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าอยู่นั่นเอง

ผลกระทบจากการเกิดมะเร็งเต้านม
     นอกจากจะมีผลกระทบต่อสุขภาพกายแล้ว ต้องยอมรับว่า “มะเร็งเต้านม” ยังส่งผลต่อจิตใจเป็นอย่างมาก เพราะเต้านมถือว่าเป็นอวัยวะที่แสดงถึงความเป็นผู้หญิง ซึ่งเดิมทีกระบวนการรักษา “มะเร็งเต้านม” แพทย์จะวินิจฉัยและมักจบลงด้วยการผ่าตัดเนื้อร้ายที่เต้านมและต่อมน้ำเหลืองออก โดยเป็นการผ่าตัดแบบเอาเต้านมออกทั้งเต้า (Total or Simple mastectomy)

     แต่ปัจจุบันการผ่าตัดได้เปลี่ยนไป เป็นการผ่าตัดออกเท่าที่จำเป็นที่เรียกว่า การผ่าตัดสงวนเต้า (Breast conserving surgery: BCS) และรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัด พร้อมด้วยการฉายรังสีรักษาครอบคลุมเต้านมอีกครั้ง ซึ่งกระบวนการรักษาดังกล่าวมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการตัดเต้านมทั้งเต้าออก และเป็นมาตรฐานของขั้นตอนการรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบัน

การฉายรังสีมะเร็งเต้านม และเคมีบำบัด
     การฉายรังสีมะเร็งเต้านม เป็นขั้นตอนภายหลังการให้ เคมีบำบัด (Chemotherapy) ซึ่งเคมีบำบัดเป็นการใช้ยารักษาที่ออกฤทธิ์ไปทั่วร่างกายเพื่อเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายขาด ให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นจากการป่วยเป็นมะเร็ง แต่ในขณะเดียวกัน การให้ยาจะส่งผลกระทบต่ออวัยวะปกติอื่นๆ ในกระบวนการสร้างเซลล์ขึ้นมาใหม่ทดแทน เช่น ระบบสืบพันธุ์ ผมและเส้นขนตามร่างกายที่มีอาการร่วงอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงหน้าที่ในการผลิตเกล็ดเลือด เม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาวของไขกระดูก ที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันเมื่อเม็ดเลือดขาวมีจำนวนลดต่ำลง ดังนั้นระหว่างรักษา หากพบว่าผู้ป่วยมีจำนวนเม็ดเลือดขาวลดลงไม่ว่าจะตอนไหน อาจต้องหยุดพักการรักษาเพื่อให้เม็ดเลือดขาวกลับมามีปริมาณที่ปกติก่อน จึงดำเนินการรักษาต่อไป

รังสีรักษา เพื่อยับยั้งการกลับมาของมะเร็ง
     “การฉายรังสี” เกือบจะเป็นขั้นการรักษาสุดท้ายของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ถึงอย่างนั้นก็สร้างความกังวลใจให้กับผู้ป่วยไม่น้อยไปกว่าขั้นตอนอื่นๆ เพื่อให้การปฏิบัติตัวของผู้เข้ารับการฉายรังสีทำได้อย่างถูกต้อง และส่งเสริมให้การรักษาได้ประสิทธิผล เรามาทำความรู้จักการฉายรังสี หรือ “รังสีรักษา” กัน

การฉายรังสีหรือรังสีรักษา (Radiation Therapy)
     การรักษาด้วยวิธีนี้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคมะเร็งต่างๆ มากขึ้น โดยอาศัยหลักการที่ว่า การฉายรังสีไปยังเนื้อเยื่อของเนื้อร้ายหรือเนื้อเยื่อของอวัยวะ เพื่อทำลายดีเอ็นเอ (DNA) ของเนื้อเยื่อนั้นให้ตาย เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปร่างหรือสรีระวิทยา โดยมีจุดประสงค์ 2 อย่างสำคัญคือ

1.ให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรค โดยยึดหลักสำคัญที่ว่า ให้ปริมาณรังสีที่สูงที่สุด เพื่อให้ได้ผลดีที่สุด และส่งผลข้างเคียงที่ยอมรับได้

2.ในกรณีผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายขาดได้ การฉายรังสีจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยทางโรค มีผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นทั้งของผู้ป่วยและคนรอบข้าง

จากผ่าตัดสงวนเต้า..ถึงการฉายรังสี
     การฉายรังสีรักษามะเร็งเต้านม มักจะเป็นในกรณีที่มีการ ผ่าตัดเต้านมแบบสงวนเต้า (Breast Conserving Surgery) ซึ่งการฉายรังสีจะเป็นแบบ ครอบคลุมเนื้อเต้านม (Whole Breast Radiation) ในข้างที่ได้รับการผ่าตัด และครอบคลุมต่อมน้ำเหลืองบริเวณเหนือกระดูกไหปลาร้า ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ หรืออาจขยายไปถึงต่อมน้ำเหลืองบริเวณช่องอกข้างเดียวกับที่เป็นมะเร็งเต้านม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะและตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง

     การฉายรังสีมะเร็งเต้านมนั้น เป็นการฉายรังสีในระยะตื้นๆ ไม่ได้ลงลึกไปถึงอวัยวะสำคัญๆ ของร่างกาย ดังนั้นจึงไม่ค่อยพบผลข้างเคียงที่รุนแรงนัก ซึ่งการฉายรังสีจะอยู่ที่ประมาณ 20-25 ครั้ง ส่วนในบางรายนั้น แพทย์อาจจะพิจารณาฉายรังสีเฉพาะตำแหน่งมะเร็ง (Radiation Boost) เพิ่มอีก 5-10 ครั้ง เพื่อลดอัตราในการกลับมาเป็นซ้ำได้อีก การฉายรังสีจะเป็นการรักษาแบบต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละครั้งจะใช้เวลาไม่มาก ไม่ได้มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด โดยจะฉายรังสีสัปดาห์ละ 5 วัน และพัก 2 วัน เพื่อให้ผิวหนังได้พัก และร่างกายได้ซ่อมแซ่มส่วนที่ถูกทำลายจากการฉายนังสี

ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีรักษามะเร็ง
ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีอาจแบ่งได้ในสองกรณีหลัก คือ

1.ผลข้างเคียงที่ปรากฏได้ทันที
     ตั้งแต่การเริ่มการรักษาจนถึงราว 8 สัปดาห์หลังการฉายรังสี เช่น การเปลี่ยนแปลงผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี จุดสำคัญจุดหนึ่ง คือบริเวณรักแร้ซึ่งมักเกิดความอับชื้นจากเหงื่อและเสียดสีกับแขนเสื้อ จึงมีโอกาสเกิดเป็นแผลได้ง่าย นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังมีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงอื่นๆ เช่น อาการอ่อนเพลีย ไอ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หรือกลืนอาหารลำบาก เนื่องจากการฉายรังสีต่อมน้ำเหลืองบริเวณช่องอกจะส่งผลกระทบต่อหลอดอาหารบางส่วนด้วย

     ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น มีแผลแตก แผลเปื่อย หรือมีเลือดออกบริเวณที่มีการฉายรังสี รวมถึงผู้ป่วยมีอาการไข้ขึ้นสูง ควรรีบพบแพทย์ที่ทำการรักษาในทันทีโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด หรือถ้าไม่สะดวก ผู้ป่วยสามารถที่จะพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้เคียงเพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ก่อน

     ดังนั้น ระหว่างทำการรักษาด้วยการฉายรังสี นอกจากการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอแล้ว ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด หรือ CBC (Complete Blood Count) สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อประเมินภาวะสุขภาพว่ายังสามารถรับการรักษาต่อไปได้หรือไม่ หรือควรหยุดพักเพื่อให้จำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์การรักษาต่อได้ก่อน และช่วงนี้ควรระมัดระวังป้องกันตนเองเพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโรค อาจต้องงดงานสังสรรค์ หรือการไปอยู่ในพื้นที่ที่มีผู้คนหนาแน่น

     บริเวณผิวหนังที่ได้รับการฉายรังสีนั้นจะมีการแปลงเปลี่ยน มีสีแดง คล้ำ หรือคัน อาจถึงขั้นมีอาการปวดแสบปวดร้อนได้ จึงไม่ควรเกิดการรบกวนผิวบริเวณนั้น คือไม่ควรถูกน้ำ ถูกความเย็น หรือถูกแดด ไม่ควรจะประคบร้อนหรือประคบเย็น ไม่ถูสบู่ หรือใช้เครื่องสำอางค์ ทำได้มากที่สุดแค่ใช้ผ้านุ่มๆ ซับเบาๆ หลังอาบน้ำหรือถูกน้ำเท่านั้น ไม่ควรว่ายน้ำในสระว่ายน้ำที่มีคลอรีน เพราะจะทำให้ผิวแห้ง และเกิดการระคายเคืองได้ง่าย และไม่ควรถู แกะ เกา เพราะจะทำให้ผิวถลอกเป็นแผล ง่ายต่อการติดเชื้อโรค ควรอยู่ในหลักการที่ว่า “สะอาดและแห้ง” จะดีที่สุด

หากจำเป็นต้องใช้เครื่องบำรุงผิวหรือยาทาผิวในบริเวณที่ฉายรังสี ขอให้อยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เจ้าของไข้

2.ผลข้างเคียงหลังการรักษา
     ในผู้ป่วยที่รักษาแบบเก็บเต้านมไว้ อาจพบว่าเต้านมที่ทำการรักษามีการเปลี่ยนแปลง มีลักษณะแข็ง ไม่นุ่มเหมือนก่อน หัวนมบุ๋มลง หรืออาจผิดรูปจากเดิมไป มีขนาดไม่เท่ากันเมื่อเปรียบเทียบกับอีกข้างหนึ่ง มีเส้นเลือดฝอยขึ้นผิดปกติบนเต้านม และอาจไม่มีน้ำนมในเต้าที่ฉายรังสีหากผู้ป่วยมีการตั้งครรภ์ในอนาคต

     ในแขนข้างที่ฉายแสงนั้น มีโอกาสบวมตั้งแต่ปลายนิ้วจนถึงต้นแขน นิ้วมือไม่สามารถทำงานได้ปกติ และเมื่อความผิดปกติเกิดขึ้นกับแขนข้างดังกล่าว ไม่ว่าจะเกิดจากการอักเสบภายในหรือมีบาดแผลให้เห็น แขนข้างนั้นจะติดเชื้อได้ง่าย รวมถึงอาการหัวไหล่ติด ข้อไหล่หมุนได้น้อย หรือไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ ผู้ป่วยจึงต้องบริหารร่างกายสม่ำเสมอระหว่างการรับการฉายรังสี และเมื่อหลังสิ้นสุดการฉายรังสีแล้ว ยังควรปฏิบัติตัวเหมือนช่วงรับการฉายรังสีต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อลดการเกิดอาการดังกล่าว

เทคโนโลยีทางการฉายรังสี 3 มิติ หรือการฉายรังสีแบบปรับความเข้ม (Intensity Modulated Radiation Therapy) เวลาเปลี่ยน-เทคโนโลยีเปลี่ยน จึงเพิ่มความมั่นใจได้มากขึ้น

     การเตรียมความพร้อม และการสร้างความรู้ความเข้าใจในการรักษา นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว และสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองแล้ว วิวัฒนาการในการรักษาพยาบาลยังทำให้เกิดความมั่นใจเพิ่มขึ้นไปด้วย ปัจจุบันการฉายรังสีมีเครื่องมือที่เรียกว่า เทคโนโลยีทางการฉายรังสี 3 มิติ หรือการฉายรังสีแบบปรับความเข้ม (Intensity Modulated Radiation Therapy) ที่เข้ามาช่วยทำให้ “แพทย์รังสีรักษา” มีข้อมูลมากขึ้นในการวางแผนการรักษา และระบบคำนวณปริมาณรังสี เพื่อใช้ในการกระจายปริมาณรังสีให้มีรูปร่างคล้ายกับรอยโรคอย่างเฉพาะเจาะจงและครอบคลุม โดยเทคโนโลยีนี้จะไปลดปริมาณรังสีที่มีต่ออวัยวะข้างเคียงให้น้อยลง จึงลดความเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบหรือภาวะแทรกซ้อนจากการฉายรังสีได้ ด้วยวิธีนี้เราสามารถเลือกพิจารณาวางแผนการฉายรังสีให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างละเอียดมากขึ้น

 

ขอขอบคุณข้อมูล ศูนย์มะเร็ง รพ.พญาไท 2

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้