อันตราย! กลั้นอุจจาระ เสี่ยงริดสีดวง-มะเร็งลำไส้

วันที่ 01-09-2023 | อ่าน : 235


อันตราย! กลั้นอุจจาระ เสี่ยงริดสีดวง-มะเร็งลำไส้

     การกลั้นอุจจาระ อาจเป็นพฤติกรรมที่หลายคนทำเป็นปกติ เนื่องด้วยการดำเนินชีวิต ที่ไม่เอื้อต่อการเข้าห้องน้ำ เมื่อปวดอุจจาระและมีความรีบเร่งในชีวิตประจำวัน ก็ทำให้กลั้นอุจจาระจนเคยชิน แต่ทราบหรือไม่ว่า การกลั้นอุจจาระ สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายและอาจก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้

กลั้นอุจจาระบ่อย ส่งผลเสียอะไรบ้าง?
การกลั้นอุจจาระ อาจส่งผลเสียต่าง ๆ ต่อร่างกาย ดังนี้

  • ถ่ายอุจจาระไม่เป็นเวลา
  • ท้องผูกเรื้อรัง การกลั้นอุจจาระ จะทำให้อุจจาระที่ค้างในลำไส้ มีการถูกดูดซึมน้ำกลับมากขึ้น กลายเป็นก้อนแข็ง ส่งผลให้ถ่ายลำบากมากขึ้นหรือที่เรียกว่า “ท้องผูก” อาการท้องผูกหากเป็นเรื้อรัง หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด ถ่ายเป็นเลือด ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระลำเล็กลง อาจเป็นอาการนำของโรคที่ร้ายแรง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่
  • ริดสีดวงทวาร สืบเนื่องจากการที่อุจจาระที่ตกค้างในลำไส้ ถูกดูดซึมน้ำกลับมากขึ้น ทำให้มีลักษณะแข็ง ในการถ่ายแต่ละครั้ง ต้องมีการใช้แรงเบ่ง ทำให้เส้นเลือดที่ทวารหนัก มีการโป่งพอง ก่อให้เกิดโรคริดสีดวงทวารและอาการปวดได้ หากมีการโป่งพองมาก และถูกครูดด้วยอุจจาระที่แข็งก็อาจทำให้มีการแตก และมีเลือดออกได้

อาการของริดสีดวงทวาร อาจเริ่มตั้งแต่ไม่มีอาการ มีก้อน มีอาการปวด ไปจนถึงมีเลือดออกมากได้

  • ภาวะอุจจาระตกค้าง เกิดจากการอุจจาระไม่หมด อาจทำให้มีภาวะท้องผูกที่รุนแรงขึ้น แน่นท้อง แน่นลม คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ รับประทานอาหารได้น้อย นอนไม่หลับ
  • ลำไส้อุดตัน หากอุจจาระไม่เป็นเวลา จนอุจจาระกลายเป็นก้อนแข็งสะสมกันนานเข้า อาจทำให้ไม่สามารถถ่ายออกมาได้ เกิดภาวะลำไส้อุดตัน ซึ่งอาจต้องทำการแก้ไขโดยการผ่าตัด

นอกจากนี้หากมีการกลั้นอุจจาระจนท้องผูก และต้องใช้ยาระบายบ่อย ๆ อาจเกิดภาวะลำไส้ดื้อยา ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาไปเรื่อย ๆ

ดูแลตัวเอง เลิกนิสัยกลั้นอุจจาระ
จากผลเสียของการกลั้นอุจจาระดังที่กล่าวมาแล้ว แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการไม่กลั้นอุจจาระ และฝึกการขับถ่ายให้เป็นกิจวัตร โดยการปฏิบัติตัว ดังนี้

  • ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลาทุกวัน อาจเป็นเวลาเช้าหลังตื่นนอน หรือหลังอาหารเช้า เนื่องจากร่างกายมีกลไกตามธรรมชาติที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ หลังจากได้รับอาหารมื้อแรก เราสามารถอาศัยกลไกตามธรรมชาตินี้ช่วยกระตุ้นการขับถ่ายได้
  • ท่านั่งในการถ่ายอุจจาระ หากนั่งบนชักโครก ควรโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย มีที่วางเท้าเพื่อช่วยเสริมให้เท้าถึงพื้นหรือเข่างอเล็กน้อย คล้ายท่านั่งยอง
  • รับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ หากมีอาการท้องผูก อาจเสริมอาหารที่มีโปรไบโอติก เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต ชาหมัก เป็นต้น
  • ดื่มน้ำให้พอเพียง การรับประทานน้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือด การดื่มน้ำช่วยให้ผิวของเรามีความชุ่มชื้น สุขภาพดี และช่วยเรื่องระบบกระเพาะปัสสาวะ ระบบย่อยอาหาร กระตุ้นระบบการขับถ่ายป้องกันนิ่วและท้องผูก
  • ออกกำลังกาย เมื่อเราออกกำลังกาย ขยับตัวเป็นประจำ จะช่วยให้ลำไส้เกิดการเคลื่อนไหว ระบบต่างๆ ในร่างกายเกิดการยืดหยุ่น สร้างความแข็งแรงต่อกล้ามเนื้อ ช่วยสร้างและรักษาภาวะสมดุลของร่างกาย ควบคุมน้ำหนัก
  • ไม่กลั้นอุจจาระ เมื่อมีอาการปวดควรขับถ่ายตามเวลา ฝึกการเข้าห้องน้ำให้เป็นสุขนิสัยติดตัว เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเองในระยะยาว
  • หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่าย ควรปรึกษาแพทย์ไม่ควรปล่อยไว้ จนอาการของโรคเรื้อรัง เพราะอาจจะส่งผลกระทบจนทำลายการใช้ชีวิตประจำวันได้ รวมถึงอาจจะเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ตามมา
  • การกลั้นอุจจาระ แม้อาจจะดูเหมือนเรื่องเล็กน้อย แต่อาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาได้ หากรู้สึกว่าตนเองเริ่มมีปัญหาในการขับถ่าย ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการวินิจฉัยและป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นได้

     อย่างที่เราทราบกันดีว่า ถ้าระบบการขับถ่ายผิดปกติ อาจจะทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับสุขภาพลำไส้ตามมา ได้แก่  ริดสีดวงทวารหนัก แผลปริที่ขอบทวารหนัก ลำไส้อักเสบเรื้อรัง มะเร็งลำไส้ ฯลฯ

     ดังนั้นหากระบบทางเดินอาหารมีปัญหา หรือขาดสมดุล  ร่างกายจะไม่สามารถทำงานได้ปกติ ส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยล้า ขาดสมาธิ สุดท้ายอาจนำไปสู่โรคร้ายแรงอย่างมะเร็งได้

เช็กความผิดปกติของตัวเองว่า มีปัญหาในเรื่องขับถ่ายหรือไม่?

  • ลักษณะของอุจจาระมีการเปลี่ยนแปลง
  • รู้สึกถ่ายไม่ออก ถ่ายไม่สุดนานติดต่อกันกว่าหนึ่งเดือน
  • อาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางด้านระบบทางเดินอาหารและตับ เพื่อตรวจคัดกรอง และติดตามอาการเพื่อการป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
     ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยเทคนิคที่ทันสมัยผ่านทางกล้อง เช่น NBI (Narrow Band Image) EMR (Endoscopic Mucosal Resection) และ Endobrain (เป็นprogram AI) ที่ช่วยประเมินความเสี่ยงของติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ซึ่งในการตรวจคัดกรองนั้น มีดังนี้

  • สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป (โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ)
  • หากตรวจพบ มะเร็งลำไส้และทวารหนักได้ตั้งแต่ระยะแรก แพทย์จะสามารถประเมินผล เพื่อวางแผนในการรักษาต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ
  • การตรวจคัดกรองและรีบดำเนินการรักษา จะสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

ตรวจยีนมะเร็งลำไส้ใหญ่
ผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ประมาณ 5% เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งได้รับยีนที่ผิดปกติมาจากบิดาหรือมารดา

ปัจจุบันมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ชนิดที่พบบ่อยแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่

  • Familial adenomatous polyposis (FAP)
  • Hereditary nonpolyposis colorectal cancer (HNPCC)

Familial adenomatous polyposis (FAP)
     เป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบประมาณ 0.5-1% ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากกลายพันธุ์ของยีน APC tumor suppressor gene โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นและมากกว่า 99% จะพัฒนาเป็นมะเร็งในช่วงอายุก่อน 40 ปี

Hereditary Nonpolyposis Colorectal Cancer (HNPCC) หรือ Lynch Syndrome
     เป็นโรคทางพันธุกรรม เช่นเดียวกับ FAP แต่พบได้บ่อยกว่า คือ ประมาณ 3-5% ของผู้ที่เป็นมะเร็ง โรคนี้เกิดจากยีน MLH1, MSH2, MSH6 และ PMS2 ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรหัสพันธุกรรมเกิดการกลายพันธุ์ ปกติแล้วโรคนี้ตลอดช่วงชีวิต มีโอกาสการเกิดมะเร็งลำไส้สูงถึง 80% อายุเฉลี่ยของการเกิดมะเร็งลำไส้อยู่ที่ประมาณ 40-50 ปี อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งที่อื่นๆ ได้อีก เช่น มดลูก กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ตับอ่อน ไต และท่อทางเดินปัสสาวะ

 


ขอขอบคุณข้อมูล นพ. ชาลี เลาหพันธ์ อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร รพ.สมิติเวช

 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้