เปลี่ยนโรคมะเร็งให้เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่

วันที่ 16-05-2019 | อ่าน : 1515


 

โดย ทัชชกร ภิญญาเดชาสิน
 
“เป็นกำลังใจให้นะ บอกได้นะถ้าต้องการความช่วยเหลืออะไร สู้ๆนะ” เป็นคำพูดที่ผมมักจะใช้เพื่อให้กำลังใจ ปลอบใจผู้ป่วยที่อยู่รอบกายผมหรือคนที่ผมรู้จัก โดยไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งผมต้องใช้คำเหล่านี้เพื่อให้กำลังใจตัวเอง
 
วันหนึ่งในปี 2551 ครอบครัวของผมต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน บรรยากาศในวันนั้น โดยทั่วไปก็เหมือนกับทุก ๆ วัน หลังจากที่ผมกลับมาจากที่ทำงาน ครอบครัวของเราซึ่งประกอบไปด้วยพ่อ แม่ และผมได้ทานข้าวเย็นพร้อมกันตามปกติ ในขณะที่กำลังทานข้าวอยู่นั้น แม่บอกว่าเหมือนจะมีก้อนเนื้อแข็ง ๆ อยู่ภายในเต้านมด้านซ้าย คำพูดของแม่ทำให้ผมต้องวางช้อนข้าวลงทันที ในหัวสมองตอนนั้นเต็มไปด้วยความตึงเครียดและความกังวลใจ เนื่องจากชีวิตที่ผ่านมาของแม่ อาชีพเย็บผ้าโหลทำให้แม่ต้องนอนไม่เป็นเวลา พักผ่อนน้อย ทำงานหนักถึงขนาดต้องพึ่งเครื่องดื่มชูกำลัง รวมทั้งดื่มกาแฟวันละหลาย ๆ แก้ว หรือนี่อาจจะเป็นสัญญาณเตือนอะไรบางอย่างถึงการดำเนินชีวิตที่ไม่ถูกต้องของแม่ ด้วยความต้องการที่อยากจะรู้ผลให้เร็วที่สุดว่าแม่เป็นโรคอะไร ผมจึงรีบโทรไปที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเพื่อสอบถามราคาการตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม ตรวจสอบเงินในบัญชีของตัวเอง และรีบทำการนัดหมายเพื่อที่จะพาแม่ไปพบหมอในวันรุ่งขึ้น
 
     เช้าวันต่อมา ผมและแม่ได้นั่งแท็กซี่จากบ้านไปที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้น ตลอดทางผมไม่สามารถนึกหาคำพูดเพื่อให้แม่สบายใจได้ จึงทำได้เพียงกุมมือเพื่อให้แม่รับรู้ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นผมจะอยู่เคียงข้างแม่ และทุกอย่างจะต้องผ่านพ้นไปได้ด้วยดี พอถึงโรงพยาบาลหมอได้ตรวจร่างกายและสอบถามอาการอย่างคร่าว ๆ พร้อมสั่งตรวจแมมโมเกรม หลังจากนั้นหมอได้เรียกผมเข้าไปฟังผลตรวจเพียงลำพังโดยที่ให้แม่นั่งรออยู่ด้านนอกก่อน หมอแจ้งว่าด้วยผิวของก้อนเนื้อ ขนาดของก้อนเนื้อประมาณ 30 เซนติเมตร และผลการทำแมมโมเกรมมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นเนื้อร้ายถึง 70% แต่อย่างไรก็ตาม จำเป็นจะต้องเอาชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อให้ได้ผลที่แน่ชัดอีกครั้ง หลังจากนั้นสมองของผมก็ไม่สามารถรับรู้อะไรที่หมอพูดได้อีก สมองและร่างกายชาเหมือนมีค้อนมาทุบบนศีรษะ มือเท้าเย็น และผมก็ทรุดตัวลงไปร้องไห้อย่างหนัก ในใจมีความกังวลมากว่าจะพูดกับแม่ยังไง ทำยังไงเพื่อไม่ให้แม่ตกใจ ในที่สุดผมต้องกลืนความโศกเศร้า เช็ดคราบน้ำตา และเดินออกนอกห้องตรวจ ผมเดินไปนั่งข้าง ๆ แม่เพื่อจะบอกว่า “หมอยังไม่ได้บอกแน่ชัดว่าเป็นอะไร แต่ด้วยเงินที่มีจำกัดเราอาจจะต้องเปลี่ยนโรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลรัฐบาล ดังนั้นแม่จึงไม่ควรกังวลอะไรไปก่อนจนกว่าจะได้รับผลตรวจที่แน่ชัดอีกครั้ง”  พูดเสร็จผมก็รีบเดินนำไปก่อนเพื่อเรียกแท็กซี่ส่งแม่กลับบ้านพร้อมน้ำตาที่ไหลรินออกมาไม่หยุด
 
     หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ที่โรงพยาบาลรัฐบาล หมอได้ให้แม่ตรวจร่างกายอย่างละเอียดอีกครั้ง มีตรวจเลือด ทำแมมโมเกรมซ้ำ เอกซเรย์ร่างกายและกระดูก และตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ หลังจากกระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นหมอได้นัดวันให้มาฟังผลชิ้นเนื้ออีกประมาณ 2 สัปดาห์ ในวันที่มารับฟังผลสีหน้าของหมอไม่ค่อยจะสู้ดีสักเท่าไหร่ก่อนจะพูดว่าแม่ผมเป็นโรคมะเร็งเต้านมระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะกระจายตัว (Metastatic Breast Cancer) ตอนนี้เชื้อมะเร็งได้กระจายไปที่กระดูกแล้ว หมอได้ชี้ผลจากฟิล์มเอกซเรย์กระดูก (Bone scan) ให้ผมดู 
ผมตัดสินใจถามหมอว่า “แล้วแม่ผมจะอยู่ได้อีกนานมั้ย” 
ซึ่งหมอก็เงียบไปก่อนที่จะให้คำตอบว่า “อาจจะไม่นานมากนักหรือประมาณ 3 เดือน” 
 
     ความรู้สึกตอนนั้นมันมากกว่าคำว่าเสียใจ โศกเศร้า หรือเจ็บปวด หัวใจผมแตกสลาย ผมร้องไห้ออกมาอย่างไม่อายและพูดออกมาว่าผมควรทำยังไงต่อไปดี สุดท้ายผมต้องเก็บความเสียใจอย่างที่สุดนี้ไว้ในใจอีกครั้ง พร้อมเดินไปบอกกับแม่ว่า “เป็นก้อนเนื้อครับ อาจจะต้องผ่าตัดแต่ไม่ได้รุนแรงมาก ยังรักษาได้ครับ” แล้วผมก็เดินนำไปพร้อมน้ำตาที่พรั่งพรูออกมา เหตุการณ์นี้ทำให้ผมกินไม่ได้ นอนไม่หลับ และเฉื่อยชาไปหลายอาทิตย์
 
     หลังจากนั้นผมได้คิดทบทวนกับตัวเองว่าจะรอให้ถึงวันที่แม่หมดอายุขัย หรือจะลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่างเพื่อต่อสู้กับโชคชะตาอันโหดร้ายนี้ ในที่สุดผมเลือกอย่างหลัง ในเดือนกันยายน 2551 แม่ผมเข้ารับการรักษาอย่างเต็มรูปแบบ นั่นคือการผ่าตัดเต้านม ต้องให้คีโมถึง 12 ครั้ง และมีการฉายแสงร่วมด้วย 8 ครั้ง ในระหว่างนั้นผมได้เริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็งเต้านม การกระจายตัวของมะเร็ง และได้ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ ผมเริ่มหัดทำอาหาร พร้อมทั้งหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับจิตวิทยา แนวทางการให้กำลังใจ และสุขภาพจิตสำหรับผู้ป่วยจากหนังสือและอินเตอร์เน็ต โดยสิ่งแรกที่ผมทำคือ ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอาหารการกินและการพักผ่อน ผักและผลไม้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง แล้ววิธีไหนที่จะทำให้แม่ทานผักและผลไม้เพียงพอในแต่ละวัน ดังนั้นผมจึงได้ตัดสินใจซื้อเครื่องสกัดน้ำผลไม้เพื่อทำน้ำผักและผลไม้สดให้แม่ดื่มทุกวันในตอนเช้า เปลี่ยนมาทานข้าวกล้อง และเมนูปลา ระหว่างวันจะต้มน้ำขิงหรือน้ำมะตูมไม่ใส่น้ำตาลให้ดื่ม และพยายามให้แม่นอนก่อน 3 ทุ่ม หลังจากการผ่าตัดเต้านม ผมได้สังเกตเห็นถึงสีหน้าของแม่ที่เต็มไปด้วยความไม่มั่นใจเวลาที่ต้องออกนอกบ้าน ช่วงนั้นพอดีได้ทราบข่าวว่ารายการผู้หญิงถึงผู้หญิงทางช่อง 3 กำลังจัดโครงการทำบราเพื่อผู้ป่วยโรคมะเร็งหลังผ่าตัดเต้านม จึงรีบไปตึกมาลีนนท์เพื่อขอรับบริจาคบรามาให้แม่ และได้เตรียมวิกผมหลาย ๆ แบบเผื่อไว้หากแม่ได้รับผลกระทบจากการให้คีโม ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ ความมีชีวิตชีวา และรอยยิ้มให้กับแม่อีกครั้ง 
 
     ผมพยายามไม่ทำอะไรให้แม่รู้สึกว่ากำลังป่วยหนัก เราได้ท่องเที่ยวหลายที่ที่เราอยากจะไป ผมได้พาแม่ไปทานอาหารตามร้านอาหารที่เราชอบ พวกเรามักจะแบ่งปันรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความสุขซึ่งกันและกันเสมอจนถึงวินาทีสุดท้ายของแม่ จากระยะเวลาที่คาดว่าแม่จะมีชีวิตอยู่ได้ 3 เดือน กลายเป็น 5 ปี 6 เดือน ถือเป็นช่วงเวลาที่วิเศษที่สุดในชีวิต พวกเราเอาชนะโรคร้ายด้วยความพยายามและเชื่อมั่น พวกเราเอาชนะความอ่อนแอด้วยความหวัง และข้ามผ่านอุปสรรคต่าง  ๆ ด้วยความรักที่มีให้กันในครอบครัว ทุก ๆ วันหลังจากกลับถึงบ้าน ผมจะเดินไปหาแม่เพื่อกอด พร้อมทั้งพูดคุยเรื่องต่าง ๆ เพื่อแสดงให้แม่รู้ว่า แม่เป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของลูกคนนี้เช่นเดียวกัน 
 
     เป็นระยะเวลา 4 ปีแล้วที่ผมไม่ได้เจอแม่ แต่ทุก ๆ ครั้งที่ผมมีโอกาสได้พบกับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งหรือญาติของผู้ป่วย ผมมักจะบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของผมให้พวกเขาฟังเพื่อเป็นกำลังใจ เป็นประโยชน์ และเป็นแนวทางในการดูแลคนในครอบครัว สิ่งสำคัญที่ผมได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ในครั้งนี้คือไม่ว่าโรคมะเร็งจะเป็นโรคร้ายแรงและน่ากลัวสักเพียงใด แต่ความรัก ความอบอุ่น และกำลังใจที่มีให้กันในครอบครัวเป็นเสมือนยาวิเศษที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนโรคมะเร็งให้เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในการดำเนินชีวิตต่อไป

ที่มา : กิจกรรมประกวดเรียงความ Change เปลี่ยนเพื่อก้าวต่อ

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
ตรวจวินิจฉัยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้