ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน

วันที่ 15-07-2022 | อ่าน : 178


ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนคืออะไร?
     ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน เป็นภาวะที่มีการสะสมไขมันมากผิดปกติในร่างกาย ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพในด้านต่างๆ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ ทั้งนี้ ในการที่จะบอกว่าใครเป็นคนอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานที่ควรจะเป็นนั้น ในทางการแพทย์เราจะดูจากตัวเลขของดัชนีมวลกาย (BMI) ซึ่งคำนวนได้จากน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง (kg/m2) ดังนี้

  • ภาวะน้ำหนักเกิน BMI 23-24.9 Kg/m2
  • โรคอ้วน BMI >25 Kg/m2

อะไรคือสาเหตุของภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วน?
     สาเหตุสำคัญของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนนั้น เกิดจากความไม่สมดุลกันระหว่างพลังงานที่ได้รับจากการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น ไขมันจากอาหารผัดทอด คาร์โบไฮเดรตจากอาหารประเภทแป้ง ของหวานหรือน้ำชงที่มีน้ำตาลและนมจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารประเภทนี้เป็นประจำก็จะได้รับพลังงานมากเกินกว่าที่ร่างกายจะเผาผลาญได้หมด และยิ่งสำหรับผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายเลย พลังงานก็จะเหลือมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการสะสมเป็นไขมันส่วนเกินได้ง่ายและรวดเร็ว

     นอกจากนี้ ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ยังพบได้ในผู้ที่มีภาวะฮอร์โมนผิดปกติ เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือเกิดจากการรับประทานยาบางชนิดได้ด้วย ในการที่จะลดน้ำหนักได้ตรงจุดนั้นจึงควรค้นหาสาเหตุที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และควรตรวจหาระดับไทรอยด์ฮอร์โมน เพื่อค้นหาภาวะอ้วนจากการพร่องไทรอยด์ที่พบได้บ่อยๆ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ยาปรับระดับไทรอยด์ฮอร์โมน

ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร?
     ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนนั้น เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ข้อเข่าเสื่อม และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้ ส่วนการลดน้ำหนักลงให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมก็จะสามารถลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ เหล่านี้ได้ เช่นกัน  

     นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมักเป็นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ไขมันพอกตับได้มากกว่าคนทั่วไปอีกด้วย ดังนั้นในคนที่มีน้ำหนักเกินก็ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคร่วมเหล่านี้ด้วย เพื่อการป้องกันและได้รับการรักษาก่อนที่โรคจะลุกลามรุนแรง

ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน จะสามารถลดน้ำหนักด้วยวิธีใดบ้าง?

  • ลดการรับประทานอาหารประเภทของทอด ของผัดน้ำมัน ของมัน ขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน แป้งขัดขาว ซึ่งให้พลังงานสูงและกระตุ้นอินซูลิน
  • เพิ่มการรับประทานผักใบเขียว ผลไม้ไม่หวาน อาหารที่มีกากใยสูง ธัญพืชไม่ขัดสี ซึ่งจะให้ทำอิ่มได้นานขึ้น และยังได้วิตามินที่ดีต่อร่างกาย
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที โดยให้หัวใจเต้นแรงขึ้นขณะออกกำลังกาย ร่วมกับการออกกำลังกายแบบมีแรงต้านเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพราะกล้ามเนื้อที่มากขึ้นจะช่วยเผาผลาญพลังงานได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
  • ในรายที่คุมน้ำหนักไม่ได้ด้วยวิธีดังกล่าว อาจพิจารณาเรื่องการใช้ช่วยลดน้ำหนัก ซึ่งต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ หรือใช้การผ่าตัดช่วย อย่างไรก็ตาม การรักษาควรทำควบคู่กับการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การลดน้ำหนักเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีสุขภาพที่ดี และมีความยั่งยืนของน้ำหนักที่ลดลง โดยไม่เกิดการโยโย่ซึ่งจะทำให้การลดน้ำหนักที่ผ่านมานั้นสูญเปล่า

 

ขอขอบคุณข้อมูล นพ.รัฐพงศ์ จิวะรังสินี อายุรแพทย์หัวหน้าศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ รพ.พญาไท 3

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง
อาหารผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้