โภชนบำบัดหลังผ่าตัดถุงน้ำดี

วันที่ 05-04-2022 | อ่าน : 640


     ถุงน้ำดีเป็นเพียงตัวเก็บพักน้ำดี ซึ่งช่วยในการย่อยอาหารประเภทไขมัน หลังผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก น้ำดียังคงถูกสร้างจากตับและไหลลงมาตามท่อน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็กเพื่อย่อยไขมันตามปกติ เพียงแต่อาจไม่เข้มข้นเท่าเดิม จึงต้องดูแลด้านการรับประทานอาหารเป็นพิเศษเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว

อาการข้างเคียงเมื่อไม่มีถุงน้ำดี
หลังผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกอาจมีอาการ

  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • อาหารไม่ย่อยหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง
  • อาจท้องเสียจากการที่น้ำดีไหลออกมามากเกินไป

     ดังนั้นควรรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพปริมาณน้อย ๆ จำนวนหลายมื้อแทนการรับประทานมาก ๆ ในครั้งเดียว โดยเฉพาะใน 2 เดือนแรกควรรับประทานอาหารไขมันต่ำ ใยอาหารสูง จะช่วยทุเลาอาการหลังผ่าตัดได้

เลือกอาหารไขมันต่ำ

     หลังผ่าตัดถุงน้ำดีเมื่อเวลาผ่านไปท่อน้ำดีจะขยายตัวและเก็บน้ำดีไว้ได้เพิ่มขึ้น บางคนสามารถรับประทานอาหารปกติได้ แต่ในคนที่การย่อยไขมันยังบกพร่อง อาจมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อหลังรับประทานอาหารไขมันสูงในมื้อเดียว

     ปกติควรรับประทานอาหารที่มีไขมันร้อยละ 20 – 35 ของพลังงาน โดยเลือกรับประทานไขมันที่ไม่อิ่มตัวเป็นหลัก พบในอโวคาโด น้ำมันมะกอก ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดธัญพืช ปลา และควรหลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัว ซึ่งพบในหนังเป็ด ไก่ เนื้อสัตว์ ไข่แดง นม และผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันเต็มส่วน หลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ ซึ่งพบในเบเกอรี่ ครีมเทียม

กรณีมีปัญหาในการย่อยไขมัน แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ (ไขมันน้อยกว่า 3 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค หรือ 1/2 ช้อนชาต่อมื้อ)

ตารางอาหารหลังผ่าตัดถุงน้ำดี

เลือกอาหารที่มีใยอาหารสูง

     อาการท้องเสียพบได้บ่อยหลังผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีมักจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป การเพิ่มใยอาหารจะช่วยบรรเทาอาการท้องเสียได้ ใยอาหารพบในธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ผลไม้ ผัก และพืชตระกูลถั่ว ควรเพิ่มการรับประทานใยอาหารทีละน้อย ๆ เพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา และอาหารรสจัด

รับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยมื้อ

     การรับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่แบ่งเป็นหลายมื้อจะช่วยป้องกันท้องเสียและปวดท้องได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังผ่าตัด 2 เดือนแรก การรับประทานอาหารปริมาณมากและนั่งอยู่กับที่จะทำให้การดูดซึมอาหารไม่ดีและท้องเสียได้

 

ขอขอบคุณข้อมูล โรงพยาบาลกรุงเทพ

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้