1.เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
การเลือกรับประทานอาหารของผู้ป่วยมะเร็งตับจะมีหลักเกณฑ์ดังนี้
- เลือกรับประทานข้าวกล้องหรือธัญพืชที่ไม่ขัดสี เพราะในข้าวกล้องและธัญพืชอุดมไปด้วยโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร อีกทั้งเป็นแหล่งสำคัญของสารกลุ่มฟีนอลิก โดยสารดังกล่าวมีคุณสมบัติในการทำหน้าที่ป้องกันภาวะเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative Stress) หรือภาวะที่มีอนุมูลอิสระมากเกินไป แต่การกินข้าวกล้องและธัญพืชก็มีข้อระวัง เพราะหากกินในปริมาณที่มากเกินไป อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการแน่นท้องได้
- สามารถรับประทานผักใบเขียวได้ทุกชนิด แต่หากมีอาการท้องอืดมาก ให้รับประทานผักที่ไม่มีเส้นใยมากนัก เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน
- เลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตชนิดย่อยง่าย
- ผลไม้ ควรเลือกรับประทานที่มีเนื้อไม่แข็งหรือมีเส้นใยมากจนเกินไป เช่น กล้วย ชมพู่
- โปรตีนจากเนื้อสัตว์ นม ควรรับประทานให้มากพอ เช่น ไก่ส่วนหน้าอกไม่ติดมัน แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบประสาทที่มีผลแทรกซ้อนมาจากตับ เช่น ซึม การควบคุมตนเองผิดปกติ ควรได้รับโปรตีนในปริมาณที่จำกัดภายใต้การดูแลของนักกำหนดอาหาร
- รับประทานอาหารปรุงสุก สะอาด
2. แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็กๆ แต่บ่อยครั้ง
จากเดิมที่รับประทานอาหาร 3 มื้อ คือ เช้า เที่ยง เย็น ก็แบ่งมื้อย่อยเพิ่มเป็น เช้า สาย บ่าย เย็น เพราะในผู้ป่วยมะเร็งจะเกิดอาการเบื่ออาหาร ทำให้น้ำหนักลดลงนำมาซึ่งสุขภาพที่แย่ลง ดังนั้นวิธีการแบ่งมื้ออาหารให้มากขึ้นจึงเป็นวิธีที่จะช่วยทำให้คนไข้รับประทานอาหารได้ในปริมาณที่เยอะขึ้น